Friday, March 18, 2011

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ที่ญี่ปุ่น








โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ที่ญี่ปุ่น ปัญหาวิกฤติระเบิดที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ที่ญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ยืนยันอย่างหนึ่งว่า ประเทศเหล่านั้น(และโลก)ได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคนิวเคลียร์”(Nuclear Age)มาแล้ว มนุษย์เราได้นำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เป็นแหล่งพลังงานเป็นระยะเวลานานร่วมร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วต่างก็ได้กระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จ่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนประชาชน

ส่วนที่วิตกกันกับปัญหาอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นถือว่ามีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุจากด้านอื่นๆ เช่น สถิติคนตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ของประเทศไทยเราสูญเสียประชากรไปประมาณ 1,500 คนต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งมีคนตายเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งสูญเสียชีวิตผู้คนมากกว่าแต่เราก็ไม่เคยขลาดกลัวทั้งๆ ที่มีอัตราความเสี่ยงสูงมากกว่าอุบัติเหตุใดๆ ในบรรดาอุบัติเหตุทั้งหมด

ในขณะเดียวกันที่อุบัติเหตุจากเครื่องบินตกก็มีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารกับจำนวนครั้งของอุบัติเหตุทางเครื่องบินในแต่ละปี แต่เมื่อเกิดเหตุคราวใดผู้คนกับขยาดกลัวจนไม่กล้าโดยสารเครื่องบินไปช่วงเวลาหนึ่ง

สำหรับอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นแล้ว ได้มีผู้คำนวณเอาไว้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วเป็นสาเหตุให้คนตายไม่เกิน 0.1 คนต่อปี แต่เราก็ขลาดกลัวกันมากจนถึงขั้นตื่นตระหนกและไม่ยอมเอามันมาตั้งไว้ที่หน้าบ้านของตนเอง

เป็นใครก็ไม่ยอมเอาภยันตรายมาตั้งไว้หน้าบ้านอย่างแน่นอน ยกเว้นบ้านเมืองที่เขามีความจำเป็นและเข้าใจถึงโทษและประโยชน์ของมัน

ชาวญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาช้านาน ถึงปัจจุบันญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เป็นเครื่องกำเนิดพลังงาน(เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์)มากถึง 55 เครื่องเข้าไปแล้ว เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรแร่ธาตุหรือต้นกำเนิดพลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานน้ำจากเขื่อน ส่วนพลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านหินก็ต้อซื้อหามาด้วยราคาเงินทองและยิ่งหากต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของประเทศด้วยแล้ว การที่จะหวังพึ่งพาพลังงานถ่านหินจากประเทศจีนก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างรอบคอบมากขึ้น ด้วยเหตุนี้คนญี่ปุ่นจึงมีความใกล้ชิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่าโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะเคยได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อนแล้วก็ตาม

ความใกล้ชิดกับสิ่งที่อาจเป็นอันตรายเช่นนี้ไม่มีอะไรดีเท่ากับการให้ความรู้อย่างถูกต้องและเพียงพอแก่ประชาชนของเขา ในกรณีของอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นชาวญี่ปุ่นดูเหมือนจะคุ้นเคยและเตรียมการรับมือมาก่อนหน้านี้แล้ว ข้อมูลที่เราได้จากข่าวสารต่ออาการตื่นตระหนกกับปัญหาวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะจึงไม่เห็นมีอาการตื่นตระหนก หรือต่อต้านกับนโยบายพลังงานของชาติและแผนการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ นั่นแสดงว่าคนญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาช้านานแล้ว

อย่างนี้หรือเปล่าที่พวกเราจึงได้ให้นิยามแก่ชาวญี่ปุ่นว่า พวกเขาเป็นชนชาติที่มีระเบียบวินัยสูงมาก แต่ขณะเดียวกันที่วินัยของชาวญี่ปุ่นก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องรอบตัวอย่างแท้จริง ไม่แพ้ความความรู้ความเข้าใจเรื่องการรับมือกับคลื่นยักษ์สึนามิ


ข้อจำกัดของประเทศที่มีสภาพเป็นเกาะอย่างประเทศญี่ปุ่น และการมีทรัพยากรอันน้อยนิด โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติที่จะนำมาแปรรูปเป็นพลังงานนั้นมีความสำคัญยิ่ง และเทียบได้กับเส้นเลือดใหญ่ที่ไปหล่อเลี้ยงทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน เพราะหากขาดแคลนพลังงานเมื่อใดชีวิตชาวญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องหยุดชะงักลงทันที ญี่ปุ่นจึงต้องแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ประเทศญี่ปุ่นมีสภาพเป็นเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยทะเล และเป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำทะเลนั้นมีแร่ธาตุนานาชนิดปะปนอยู่มากมาย รวมทั้งธาตุยูเรเนียม ซึ่งเป็นธาตุต้นกำเนิดของการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ แต่ปริมาณธาตุยูเรเนียมในน้ำทะเลนั้นมีอยู่เพียงน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับจำนวนน้ำทะเลที่กว้างใหญ่มหาศาล เพราะต้องคิดว่าจะใช้น้ำทะเลเป็นจำนวนมากเท่าใดจึงจะได้ธาตุยูเรเนียมอย่างเพียงพอต่อการนำมาใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วิธีการค่อนข้างซ้อนและใช้เทคโนโลยีที่สูง หลักๆ คือ ใช้การดูดซับยูเรเนียมด้วยสารดูดซับจากน้ำทะเล โดยเมื่อน้ำทะเลผ่านการสูบเข้าเครื่องดูดซับยูเรเนียมซึ่งมีขนาดความยาว 90 เซนติเมตรเป็นเวลาต่อเนื่อง 30 วัน ผลปรากฏว่าเครื่องสามารถดูดซับยูเรเนียมได้ 0.1 เปอร์เซ็นต์(หรือได้ยูเรเนียมหนัก 0.3 กรัม/ตัวดูดซับ 1 กิโลกรัม)


Mr. Nobukawa ได้แนะนำอีกวิธีหนึ่งว่า แทนที่จะใช้เครื่องดูดน้ำทะเลเข้าเครื่องดูดซับก็ใช้วิธีเอาแท่งดูดซับไปจุ่มน้ำทะเลก็จะได้ธาตุยูเรเนียมเช่นเดียวกัน

ยูเรเนียมที่ได้จากการสกัดจากน้ำทะเลนั้นจะทำให้ยูเรเนียมทีได้นั้นมีมูลค่าสูงเป็น 5 เท่าของยูเรเนียมที่ได้จากเหมืองแร่ (ปัจจุบันราคาของยูเรเนียมที่มีการซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 1,750 บาทต่อกิโลกรัม)เท่ากับประมาณ 8,750 บาท แม้จะไม่แพงนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ญี่ปุ่นก็ยังต้องแสวงหาเทคโนโลยีในการสกัดแร่ยูเรเนียมจากน้ำทะเลต่อไป

หากทั้ง 2 วิธีนั้นญี่ปุ่นสามารถพัฒนาจนผลิตได้เป็นสำเร็จจำนวนมากก็จะเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อไป

ผิดกับประเทศอินเดียที่มีความโชคดีมหาศาล ที่เมือง Kerala ตั้งอยู่ด้านชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย นอกจากจะมีชายหาดที่สวยงามแล้ว พื้นทรายที่ชายหาดแห่งนั้นกลับมีพลังงานรังสีปลดปล่อยออกมาถึง 300 ไมโครเรินท์เกน/ชั่วโมง ซึ่งมากพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ จากการตรวจสอบพบว่า ทรายที่ชายหาดนั้นมีนั้นมีองค์ประกอบเป็นแร่โมนาไซต์ ซึ่งมีธาตุทอเรียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย


ธาตุทอเรียมนั้นเป็นธาตุ(สาร)กัมมันตรังสีเช่นเดียวกับยูเรเนียม นักวิทยาศาสตร์อินเดียเชื่อว่า ทอเรียมสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ได้ด้วยเช่นกัน จึงใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อพัฒนาวิจัยทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้นแบบจากธาตุทอเรียมจนได้เป็นยูเรเนียม-233 เป็นผลสำเร็จ ตั้งชื่อเครื่องปฏิกรณ์ว่า Kamini มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดต่ำเพียง 30 กิโลวัตต์ ( http://en.wikipedia.org/wiki/KAMINI ) ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยอินทิรา คานธี เมืองคัลปากคัม รัฐทมิลนาดู แต่กระบวนการดังกล่าวยังไม่เป็นผลสำเร็จแบบครบวงจร

ตัวอย่างของทั้ง 2 ประเทศนั้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่จะเจริญและก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในเรื่องพลังงานนั้นก็ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยด้วยการค่อยๆ วิจัยพัฒนาโครงการและฝึกคนในประเทศของตัวเองให้มีความทักษะ มีความรู้ความเข้าใจ และมีวินัยต่อระบบความปลอดภัยอย่างเป็นเลิศ จึงจะรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้นได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เพราะอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นมีน้อยที่สุดก็จริงแต่ก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ให้เกิดเลย

กรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะนั้นเป็นเรื่องที่สุดวิสัย และจะเป็นตัวอย่างให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่นและที่กำลังคิดจะสร้างต้องเตรียมการหาทางปรับปรุงเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยขั้นสูงสุดกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้
ไม่มีใครอยากให้เกิดวิกฤติการณ์เช่นดังกล่าว แต่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญ

ข้อมูลอ้างอิง เอกสาร “สนุกกับอะตอม” สำนักงานพลังปรมาณูเพื่อสันติ
Post By Mr.Tommy World class tourist services E-Mail : sert8@hotmail.com
Webblog : www.facebook.com/jetour
Address : Bangkok Thailand

No comments: